มาตรฐานระบบดับเพลิงด้วยน้ำชนิดระบบหัวกระจายน้ำดับเพลิง (Sprinkler System) มีรายละเอียดดังนี้
1) มาตรฐานการป้องกันอัคคีภัย วสท. 3002–51 ภาคที่ 5 มาตรฐานระบบดับเพลิง หมวด 7 ระบบหัวกระจายน้ำดับเพลิง ได้กำหนดรายละเอียดไว้ดังนี้
วัสดุและอุปกรณ์ที่ใช้ติดตั้ง จะต้องได้รับการรับรองจากสถาบันที่เชื่อถือได้
1.1) หัวกระจายน้ำดับเพลิง
1.1.1) หัวกระจายน้ำดับเพลิงที่นำมาใช้ในการติดตั้ง จะต้องเป็นของใหม่ ที่ไม่เคยผ่านการใช้งานมาก่อน และเป็นชนิดที่ได้รับการรับรองจากสถาบันที่เชื่อถือได้เท่านั้น
1.1.2) หัวกระจายน้ำดับเพลิงจะต้องเลือกชนิด และติดตั้งให้ถูกต้องตามคำแนะนำของผู้ผลิต
1.1.3) หัวกระจายน้ำดับเพลิงจะต้องเลือกอุณหภูมิทำงาน (temperature rating) ให้เหมาะสมกับพื้นที่ที่ติดตั้งตามที่ระบุ ดูรายละเอียดในตาราง 5.7.2 อุณหภูมิทำงาน ระดับอุณหภูมิ และรหัสสีของหัวกระจายน้ำดับเพลิง ในมาตรฐานการป้องกันอัคคีภัย วสท. 3002–51 หน้า 190
1.1.4) หัวกระจายน้ำดับเพลิงที่ติดตั้งในบริเวณที่หัวมีโอกาสถูกทำให้เสียหาย จะต้องมีอุปกรณ์ป้องกันติดตั้งที่หัวด้วย (sprinkler guard)
1.2) การติดตั้งระบบหัวกระจายน้ำดับเพลิง
1.2.1) หัวกระจายน้ำดับเพลิงจะต้องติดตั้งทั่วทั้งอาคาร
1.2.2) หัวกระจายน้ำดับเพลิงจะต้องติดตั้งในตำแหน่งที่ระยะเวลาในการทำงาน (activation time) และการกระจายน้ำ (distribution) สามารถดับเพลิงได้ผลดี
1.2.3) วาล์วและอุปกรณ์ที่จำเป็นของระบบจะต้องเข้าถึงได้สะดวกเพื่อการใช้งาน ตรวจสอบ ทดสอบและบำรุงรักษาได้สะดวก
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมจากมาตรฐานการป้องกันอัคคีภัย วสท. 3002–51 ภาคที่ 5 หมวดที่ 7 ระบบหัวกระจายน้ำดับเพลิง หน้า 182–215
2) ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 33 (พ.ศ. 2535), ฉบับที่ 39 (พ.ศ. 2537) ฉบับที่ 47 (พ.ศ. 2540) และฉบับที่ 55 (พ.ศ. 2543) ได้กำหนดรายละเอียดสำหรับอาคารประเภทต่างๆ ดังนี้
2.1) กฎกระทรวงฉบับที่ 33 (พ.ศ. 2535) ได้กำหนดให้อาคารสูงและอาคารขนาดใหญ่พิเศษ ต้องมีระบบดับเพลิงอัตโนมัติ ดังนี้ ระบบดับเพลิงอัตโนมัติ ต้องมีระบบดับเพลิงอัตโนมัติ เช่น sprinkler system หรือระบบอื่นที่เทียบเท่า ที่สามารถทำงานได้ทันทีเมื่อมีเพลิงไหม้ โดยครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดทุกชั้น
2.2) กฎกระทรวงฉบับที่ 39 (พ.ศ. 2537) ฉบับที่ 47 (พ.ศ. 2540) และฉบับที่ 55 (พ.ศ. 2543) มิได้มีการกำหนดข้อกำหนดไว้ สำหรับอาคารทั่วไปที่มิใช่อาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษ
|