งานวิศวกรรมระบบระบายอากาศและปรับอากาศ : มาตรฐานระบบปรับอากาศ
มาตรฐานระบบปรับอากาศ มีรายละเอียดดังนี้
1) มาตรฐานระบบปรับอากาศและระบายอากาศ วสท. 3003–50 ได้กำหนดรายละเอียดต่างๆ ไว้ดังนี้
1.1) ข้อกำหนดทั่วไป
1.1.1) ระบบปรับอากาศและระบายอากาศต้องได้รับการออกแบบและติดตั้งตามหลักปฏิบัติทางวิศวกรรมที่ดี (good engineering practice)
1.1.2) งานไฟฟ้าสำหรับระบบปรับอากาศและระบายอากาศต้องปฏิบัติตามมาตรฐานการติดตั้งทางไฟฟ้าสำหรับประเทศไทย (มาตรฐาน วสท. 2001)
1.2) การเข้าถึง (Access)
1.2.1) ทั่วไป อุปกรณ์และเครื่องใช้ทางกลทุกชนิดจะต้องเข้าถึงได้ เพื่อตรวจสอบบริการ ซ่อมแซม และเปลี่ยน โดยไม่ต้องรื้อถอนโครงสร้างถาวร หากไม่ได้ระบุเป็นอย่างอื่นต้องมีการจัดเตรียมพื้นที่และช่องว่างสำหรับทำงานไม่น้อยกว่า 0.75 เมตร ในการบริการอุปกรณ์ หรือเครื่องใช้อุปกรณ์ควบคุม มาตรวัดแผงกรองอากาศ พัดลม มอเตอร์ และหัวเผา จะต้องเข้าถึงได้ และต้องแสดงข้อแนะนำในการใช้งานให้เห็นได้อย่างชัดเจนอยู่ใกล้เคียงกับเครื่องใช้นั้น
1.2.2) เครื่องทำความเย็น จะต้องจัดเตรียมช่องทางที่เข้าถึงได้ มีความกว้างไม่น้อยกว่า 0.60 เมตร และสูงไม่น้อยกว่า 2.00 เมตร สำหรับเครื่องทำความเย็นแต่ละเครื่องที่ติดตั้งไว้ภายในอาคารยกเว้นท่อน้ำ ท่อลม และอุปกรณ์ในลักษณะที่ไม่จำเป็นต้องได้รับการบริการหรือการปรับแก้
ข้อยกเว้น: ช่องเปิดบริการไปยังเครื่องทำความเย็นที่อยู่เหนือฝ้าเพดานจะต้องมีขนาดความกว้างอย่างน้อย 0.60 เมตร และยาวอย่างน้อย 0.60 เมตร และต้องมีขนาดใหญ่เพียงพอในการเปลี่ยนเครื่องทำความเย็นได้
1.2.3) การติดตั้งเหนือฝ้าเพดาน หากช่องเปิดบริการอยู่ห่างจากพื้นที่ทำงานมากกว่า 1.00 เมตร จะต้องจัดเตรียมพื้นที่มีความมั่นคงแข็งแรงและต่อเนื่องซึ่งมีความกว้างไม่น้อยกว่า 0.60 เมตร จากช่องเปิดบริการไปยังพื้นที่ทำงานที่จำเป็น
1.2.4) แผงกรองอากาศ วาล์วควบคุม และเครื่องส่งลมเย็น จะต้องจัดเตรียมช่องทางที่ไม่มีสิ่งกีดขวางที่มีความกว้างไม่น้อยกว่า 0.60 เมตรและความสูงไม่น้อยกว่า 0.75 เมตร เพื่อเข้าบำรุงรักษา แผงกรองอากาศ วาล์วควบคุมและเครื่องส่งลมเย็น
ข้อยกเว้น: ช่องเปิดที่เปิดถึงอุปกรณ์โดยตรง อาจลดขนาดลงเหนือ 0.30 เมตร โดยที่ยังคงสามารถบำรุงรักษาอุปกรณ์นั้นได้
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมจาก มาตรฐานระบบปรับอากาศและระบายอากาศ วสท. 3003–50 หน้า 3 ถึง 5
1.3) การปรับอากาศ
สภาวะการออกแบบ (design condition) สำหรับการปรับอากาศเพื่อความสบาย ต้องเลือกสภาวะการออกแบบภายในอาคารให้เกิดการอนุรักษ์พลังงานมากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ในกรณีไม่มีความต้องการเป็นกรณีพิเศษอื่นๆ การคำนวณภาระการทำความเย็นแนะนำให้ใช้อุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ตามที่แสดงในตารางที่ 4.7
ตารางที่ 1 ค่าแนะนำสภาวะการออกแบบภายในอาคาร
ลักษณะการใช้งาน
|
อุณหภูมิกระเปาะแห้ง
(องศาเซลเซียส)
|
ความชื้นสัมพัทธ์
(เปอร์เซ็นต์)
|
สำนักงาน โรงเรียน
|
24
|
55
|
(ที่มา มาตรฐานระบบปรับอากาศและระบายอากาศ วสท. 3003–50 หน้า 7)
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมจาก มาตรฐานระบบปรับอากาศและระบายอากาศ วสท. 3003–50 หน้า 7
1.4) การติดตั้งระบบปรับอากาศและระบายอากาศเพื่อความปลอดภัยด้านอัคคีภัย
ความต้องการทั่วไปสำหรับอุปกรณ์
1.4.1) ต้องจัดวางตำแหน่งอุปกรณ์ให้สามารถเข้าถึงได้เพื่อการตรวจสอบบำรุงรักษา และซ่อมแซม
1.4.2) ต้องเลือกใช้และติดตั้งอุปกรณ์ตามที่ผู้ผลิตแนะนำ
1.4.3) การติดตั้งอุปกรณ์ต้องมีการป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดอันตรายกับบุคคลที่เข้าใกล้อุปกรณ์
1.4.4) ต้องมีการป้องกันช่องสำหรับดูดลมของอุปกรณ์เช่น การมีตะแกรงโลหะเพื่อป้องกันอุบัติเหตุจากบุคคลหรือป้องกันวัสดุที่ไม่ต้องการเข้าไปในระบบได้
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมจาก เรื่องการติดตั้งระบบปรับอากาศและระบายอากาศเพื่อความปลอดภัยด้านอัคคีภัยในมาตรฐานระบบปรับอากาศและระบายอากาศ วสท. 3003–50 หน้า 15–26
2) ตามมาตรฐานการตรวจสอบคุณภาพอากาศภายในอาคาร ส.ว.ป.ท. 04–2549 ได้กำหนดรายละเอียดต่างๆ ไว้เกี่ยวกับแนวทางการตรวจสอบและประเมินระบบปรับอากาศและระบายอากาศไว้ดังนี้
2.1) การตรวจสอบอย่างละเอียด
อุณหภูมิความชื้นสัมพัทธ์ และคาร์บอนไดออกไซด์
การตรวจวัดค่าตัวแปรต่างๆ เช่น อุณหภูมิ ความชื้นสัมพัทธ์และระดับแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์จะกระทำในขั้นตอนนี้ของการตรวจสอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากมีการร้องทุกข์เกี่ยวกับสภาวะสุขสบายหรือมีการบ่งชี้ใดๆ ในเรื่องของอากาศภายนอกที่นำเข้ามาอย่างไม่เพียงพอ สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับอุณหภูมิ ความชื้นและแก๊สคาร์บอนได ออกไซด์ สามารถดูได้ในภาคผนวก จ ในอาคาร ส.ว.ป.ท.04–2549
2.1.1) เพื่อลดปัญหาการร้องทุกข์ของพนักงานเกี่ยวกับความไม่สุขสบายให้เหลือน้อยสุด อุณหภูมิภายในห้องควรจะตั้งไว้ ระหว่าง 23–26 องศาเซลเซียส คนส่วนใหญ่จะรู้สึกสุขสบายมากที่สุดที่อุณหภูมิ 23+1 องศาเซลเซียส ทั้งนี้ค่าตัวเลขอุณหภูมิดังกล่าวตั้งอยู่บนพื้นฐานของการสมมติค่าความชื้นสัมพัทธ์ที่ 50%
2.1.2) ถ้าความชื้นสัมพัทธ์ในบริเวณที่มีคนอยู่มีค่ามากกว่า 60% อาจจะเกิดการเจริญเติบโตของเชื้อราขึ้นได้ ความชื้นสัมพัทธ์ในอาคารที่มีระบบปรับอากาศไม่ควรจะมากกว่า 60% และความชื้นที่ต่ำกว่า 20–30% จะทำให้รู้สึกแห้งไม่สบายกาย เช่น เกิดอาการเคืองตา เป็นต้น
2.1.3) โดยทั่วไป ความเข้มข้นของแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ภายนอกจะอยู่ที่ประมาณ 300–400 ส่วนต่อล้านส่วน (ppm) ผู้ตรวจสอบจะต้องพิจารณาการเปรียบเทียบระหว่างความเข้มข้นของแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ภายในกับภายนอก ทั้งนี้ พึงตระหนักไว้ว่าการวัดความเข้มข้นของแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์แต่เพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอต่อการสรุปถึงปัญหาที่เกิดขึ้นว่ามาจากการระบายอากาศของอาคาร อย่างไรก็ตาม ข้อมูลดังกล่าวมักจะมีส่วนสำคัญในการพิจารณาร่วมกับ สิ่งที่ได้ค้นพบอื่นๆ จากการตรวจสอบ ความเข้มข้นของแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ภายในที่มากกว่า 800 –1,000 ส่วนต่อล้านส่วน มักจะถูกใช้เป็นตัวบ่งชี้ถึงความไม่เพียงพอของการระบายอากาศภายนอก มาตรฐาน ASHRAE 62.1–2004: Ventilation for acceptable indoor air quality ระบุความแตกต่างของความเข้มข้นของแก๊สคาร์บอนออกไซด์ระหว่างภายในกับภายนอกอาคาร ไม่มากกว่า 700 ส่วนต่อล้านส่วน ซึ่งตัวเลขดังกล่าวดูเหมือนว่าจะสามารถผ่านข้อกำหนดความสุขสบายในเรื่องกลิ่นที่สัมพันธ์กับผลทางชีวภาพของมนุษย์
2.2) การประเมินระบบปรับอากาศและระบายอากาศ
ระบบปรับอากาศและระบายอากาศจะต้องถูกประเมินเพื่อหาปริมาณอากาศภายนอกที่แท้จริงที่นำเข้าสู่อาคารโดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณที่มีปัญหา ตัวระบบจะต้องนำปริมาณอากาศภายนอกอย่างน้อยที่สุดตามจำนวนคนที่อยู่ภายในอาคารที่แท้จริง ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานของอาคาร มาตรฐานงานเครื่องกลหรือมาตรฐานการระบายอากาศที่ใช้อยู่ในเวลาที่อาคารถูกสร้างขึ้นหรือถูกปรับปรุงหรือถูกเปลี่ยนแปลงรูปแบบแล้วแต่ว่าแบบไหนจะมาล่าสุด ปริมาณอากาศภายนอกที่จ่ายเข้าไปในบริเวณที่ทำงานโดยทั่วๆ ไป จะอยู่ที่อย่างน้อยประมาณ 8.5 ลิตรต่อวินาทีต่อคน โดยจ่ายเข้าไปอย่างต่อเนื่องภายในบริเวณที่มีคนอยู่ตลอดเวลา
2.3) การปนเปื้อนทางเคมี
สารปนเปื้อนทุกชนิดควรจะได้รับการกำจัดตั้งแต่ต้นทางหรือแหล่งกำเนิดหากเป็นไปได้ เช่น ที่เครื่องถ่ายเอกสารห้องถ่ายเอกสารควรจะมีการระบายอากาศออกสู่ภายนอกและให้สภาพในห้องมีสภาพของความดันอากาศที่เป็นลบเมื่อเทียบกับพื้นที่บริเวณรอบๆ วัสดุที่มีการปลดปล่อยสารปนเปื้อนน้อยควรจะถูกนำมาใช้ต่อเมื่อจำเป็น หรือหากสามารถนำไปบำบัดหรือขจัดสารปนเปื้อนออกเสียก่อนการนำไปใช้ก็ควรที่จะทำ การกำหนดพื้นที่ใช้สอยต่างๆ ในตัวอาคารให้เป็นพื้นที่ห้ามสูบบุหรี่ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่สามารถกระทำได้ตามนโยบายของฝ่ายบริหาร การจัดพื้นที่สูบบุหรี่ภายนอกและการติดป้ายประกาศ ควรจะให้แน่ใจว่าจะไม่มีควันบุหรี่ไหลกลับเข้ามาในอาคารหรืออาคารใกล้เคียง
การรักษาความสะอาดและการดูแลรักษา สารเคมี ยาฆ่าแมลงและสารเคมีอันตรายอื่นๆ ควรจะทำตามคำแนะนำของผู้ผลิต การล้างทำความสะอาดคอยล์เย็นด้วยสารทำความสะอาดชนิดระเหยได้ควรจะกระทำต่อเมื่อมีการปิดระบบระบายอากาศแล้ว และเปิดระบบระบายอากาศเมื่อพื้นที่นั้นไม่มีคนอยู่ การรมควันตลอดทั้งอาคารควรจะกระทำเมื่อตัวอาคารนั้นไม่มีคนอยู่ และควรเปิดระบบระบายอากาศล่วงหน้า 2 ชั่วโมง ก่อนที่จะเปิดให้คนเข้ามาในอาคาร หากจำเป็นอาจจะต้องเปิดล่วงหน้ามากกว่า 2 ชั่วโมง ถ้าหากได้รับคำแนะนำจากบริษัทที่เข้ามาทำการรมควันอาคาร ผู้ที่อยู่ภายในอาคารควรจะได้รับการแจ้งล่วงหน้าอย่างน้อย 24 ชั่วโมง ก่อนจะทำการรมควันในอาคารซึ่งอาจจะส่งผลให้มีอากาศปนเปื้อนหลุดเข้าไปในพื้นที่ทำงานของคนเหล่านั้น
อุปกรณ์ที่ใช้ในการกรองอากาศก่อนเข้าอาคารควรจะมีประสิทธิภาพที่ดีในการดักกรองเอาฝุ่นผงและอนุภาคต่างๆ ไว้ ทั้งนี้จะสังเกตความเสื่อมประสิทธิภาพของตัวกรองได้จากการที่ตัวกรองเกิดการฉีกขาด การติดตั้งตัวกรองไม่ถูกวิธี หรือพบเห็นฝุ่นจำนวนมากหลุดออกมาจากตัวกรองหรือภายในท่อลมหรือกล่องลม ตัวกรองที่ใช้ในระบบระบายอากาศในอาคาร ควรจะได้รับการตรวจสอบและเปลี่ยนเป็นประจำ อย่างน้อยทุกๆ 6 เดือน ในระหว่างที่มีการเปลี่ยนตัวกรองอากาศ ควรจะทำการปิดระบบระบายอากาศก่อน
3) ตามคู่มือเทคนิคการตรวจสอบอาคารเพื่อความปลอดภัย ภาคที่ 6 เทคนิคการตรวจสอบระบบสุขอนามัยและสิ่งแวดล้อม และประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติฯ มีข้อกำหนดเกี่ยวกับมาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศในประเทศไทย ดังที่แสดงในตารางที่ 2 และในปี 2550 ได้มีการกำหนดมาตรฐานค่าสารอินทรีย์ระเหยง่าย (volatile organic compounds) ในบรรยากาศโดยทั่วไปในเวลา 1 ปี ดังแสดงในตารางที่ 3 ดังนี้
ตารางที่ 2 มาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศโดยทั่วไป
|
สารมลพิษ
|
ค่าเฉลี่ย
ความเข้มข้น
ในเวลา
|
ค่ามาตรฐาน
|
วิธีการตรวจวัด
|
1. แก๊สคาร์บอนมอนนอกไซด์ (CO)
|
1 ช.ม.
|
ไม่เกิน 30 ppm
|
34.2 มก./ลบ.ม.
|
Non–dispersive
Infrared detection
|
8 ช.ม.
|
ไม่เกิน 9 ppm
|
10.26 มก./ลบ.ม.
|
2. แก๊สไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2)
|
1 ช.ม.
|
ไม่เกิน 0.17 ppm
|
0.32 มก./ลบ.ม.
|
Chemiluminescence
|
1 ปี
|
ไม่เกิน 0.03 ppm
|
0.057 มก./ลบ.ม.
|
3. แก๊สโอโซน (O3)
|
1 ช.ม.
|
ไม่เกิน 0.10 ppm
|
0.20 มก./ลบ.ม.
|
Chemiluminescence
|
8 ช.ม.
|
ไม่เกิน 0.07 ppm
|
0.14 มก./ลบ.ม.
|
4. แก๊สซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2)
|
1 ปี
|
ไม่เกิน 0.04 ppm
|
0.10 มก./ลบ.ม.
|
- UV–Fluorescence
- Pararosaniline
|
24 ช.ม.
|
ไม่เกิน 0.12 ppm
|
0.30 มก./ลบ.ม.
|
1 ช.ม.
|
ไม่เกิน 0.3 ppm
|
0.78 มก./ลบ.ม.
|
5. ตะกั่ว (Pb)
|
1 เดือน
|
ไม่เกิน 1.15 ไมโครกรัม./ลบ.ม.
|
Atomic absorption
Spectrometer
|
6. ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน
|
24 ช.ม.
|
ไม่เกิน 0.05 มก./ลบ.ม.
|
- Gravimetric
(high volume)
- Beta ray
- Dichotomous
- Tapered Element
Oscillating
Microbalance
(TEOM)
|
1 ปี
|
ไม่เกิน 0.025 มก./ลบ.ม.
|
7. ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10)
|
24 ช.ม.
|
ไม่เกิน 0.12 มก./ลบ.ม.
|
1 ปี
|
ไม่เกิน 0.05 มก./ลบ.ม.
|
8. ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 100 ไมครอน
|
24 ช.ม.
|
ไม่เกิน 0.33 มก./ลบ.ม.
|
Gravimetric
(high volume)
|
ที่มา 1. คู่มือเทคนิคการตรวจสอบอาคารเพื่อความปลอดภัย, 2551: หน้า 146
2. ประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 33 (พ.ศ. 2552) เรื่อง กำหนดมาตรฐานค่าก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ ในบรรยากาศทั่วไป
3. ประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 36 (พ.ศ. 2553) เรื่อง กำหนดมาตรฐานฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอนในบรรยากาศทั่วไป
ตารางที่ 3 กำหนดมาตรฐานค่าสารอินทรีย์ระเหยง่าย (Volatile organic compounds) ในบรรยากาศ พ.ศ. 2550
สาร
|
ค่าเฉลี่ยในเวลา 1 ปีไมโครกรัมต่อ
ลูกบาศก์เมตร
|
วิธีการตรวจวัด
|
1. เบนซีน (benzene)
|
1.7
|
1. ให้นำผลการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างอากาศแบบต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมงของทุกๆ เดือน อย่างน้อยเดือนละหนึ่งครั้งมาหาค่ามัชฌิมเลขคณิต (arithmetic mean)
2. กรณีตัวอย่างอากาศที่เก็บมาตรวจวิเคราะห์ตามข้อ 1 ไม่สามารถตรวจวิเคราะห์ได้ให้เก็บตัวอย่างมาวิเคราะห์ใหม่ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่เก็บตัวอย่างที่ไม่สามารถตรวจวิเคราะห์ได้
|
2. ไวนิลคลอไรด์ (vinyl chloride)
|
10
|
3. 1,2–ไดคลอโรอีเทน (1,2 dichloroethane)
|
0.4
|
4. ไตรคลอโรเอทธิลีน (trichloroethylene)
|
23
|
5. ไดคลอโรมีเทน (dichloromethane)
|
22
|
6. 1,2–ไดคลอโรโพรเพน (1,2–dichloropropane)
|
4
|
7. เตตระคลอโรเอทธิลีน (tetrachloroethylene)
|
200
|
8. คลอโรฟอร์ม (chloroform)
|
0.43
|
9. 1,3–บิวทาไดอีน (1,3–butadiene)
|
0.33
|
(ที่มา คู่มือเทคนิคการตรวจสอบอาคารเพื่อความปลอดภัย, 2551: หน้า 148)
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมจาก มาตรฐานการตรวจสอบคุณภาพอากาศภายในอาคาร ส.ว.ป.ท. 04–2549
|