งานสถาปัตยกรรมภายใน : ครุภัณฑ์/เฟอร์นิเจอร์/เครื่องมือและอุปกรณ์ : รายละเอียดเพิ่มเติม
1. การกำหนดขนาดและระยะต่างๆ ของครุภัณฑ์/เฟอร์นิเจอร์/เครื่องมือและอุปกรณ์ สามารถกำหนดให้สอดคล้องหลักการยศาสตร์ (ergonomics) ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
1) ขนาดพื้นที่ห้องปฏิบัติการตามจำนวนหน่วยย่อย (มอดูล) ภายในห้องปฏิบัติมีการกำหนดระยะทางเดินที่สอดคล้องกับครุภัณฑ์และอุปกรณ์ต่างๆ ดูรายละเอียดในหัวข้อที 5
2) ขนาดและระยะของครุภัณฑ์และอุปกรณ์ต่างๆ ของ Human dimension & interior space กำหนดรายละเอียดไว้ดังนี้
2.1) ขนาดและสัดส่วนของเครื่องมือ โต๊ะปฏิบัติการติดผนัง ตู้เก็บอุปกรณ์ ตู้ลอย และอ่างล้างมือ มีระยะต่างๆ แบ่งตามเพศ ดังแสดงในรูปที่ 1 และ รูปที่ 2

รูปที่ 1 ขนาดและระยะต่างๆ ของร่างกายมนุษย์ที่สัมพันธ์กับ ครุภัณฑ์ เครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ ในห้องปฏิบัติการสำหรับเพศชาย
(ที่มา Human dimension & interior space, 1979: หน้า 236)

รูปที่ 2 ขนาดและระยะต่างๆ ของร่างกายมนุษย์ที่สัมพันธ์กับ ครุภัณฑ์ เครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ ในห้องปฏิบัติการสำหรับเพศหญิง
(ที่มา Human dimension & interior space, 1979: หน้า 236)
2.2) ขนาดและสัดส่วนของมนุษย์ (Human scale & proportion) ตามลักษณะของกิจกรรมที่เกิดขึ้นภายในห้องปฏิบัติการ มีรายละเอียดดังแสดงในรูปที่ 3 และ รูปที่ 4
รูปที่ 3 ขนาดและระยะต่างๆ ของร่างกายมนุษย์ที่สัมพันธ์กับ ครุภัณฑ์ เครื่องมือและอุปกรณ์ ขณะนั่งทำกิจกรรมต่างๆภายในห้องปฏิบัติการ
(ที่มา Human dimension & interior space, 1979: หน้า 235)

รูปที่ 4 ขนาดและระยะต่างๆ ของร่างกายมนุษย์ที่สัมพันธ์กับ ครุภัณฑ์ เครื่องมือและอุปกรณ์ ขณะยืน ก้มหรือเดิน เพื่อทำกิจกรรมต่างๆ ภายในห้องปฏิบัติการ
(ที่มา Human dimension & interior space, 1979: หน้า 239)
2. ครุภัณฑ์ต่างๆ เช่น ตู้ควัน ตู้ลามินาโฟล์ว หรือ ตู้ชีวนิรภัย (Biosafety cabinet) เป็นต้น ภายในห้องปฏิบัติการมีการดูแลและบำรุงรักษาอย่างสม่ำเสมอ ตามเกณฑ์ของ OSHA laboratory standard, GLP handbook ของ WHO และ OECD series on GLP and compliance monitoring ในบทที่ 2 เรื่อง Good laboratory practice training หัวข้อ Building and equipment หัวข้อย่อย equipment ได้นำเสนอรายละเอียดไว้ดังนี้
1) อุปกรณ์ (Equipment) เพื่อให้การปฏิบัติเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต้องมีจำนวนอุปกรณ์ที่เพียงพอ โดยอุปกรณ์ต่างๆ ต้องมีความเหมาะสมกับลักษณะการใช้งานและมีการตรวจสอบความเที่ยงตรง (calibration) และมีการบำรุงรักษาอย่างสม่ำเสมอควรมีการบันทึกการซ่อมแซมและการบำรุงรักษาประจำปี รวมไปถึงการบันทึกซ่อมแซม เพื่อความน่าเชื่อถือของข้อมูลที่ได้จากการทดลองและลดจำนวนข้อมูลที่ผิดพลาดอันเกิดจากเครื่องมือที่ไม่ได้มาตรฐาน
1.1) ความเหมาะสม (Suitability) ความเหมาะสมของการใช้เครื่องมือจะได้จากการประเมินการปฏิบัติงาน โดยดูว่าเครื่องมือชิ้นนั้นๆ สามารถปฏิบัติงานได้อย่างเหมาะสมหรือไม่ โดยคำนึงถึงลักษณะการใช้งานของเครื่องมือ
1.2) การตรวจสอบความเที่ยงตรง (Calibration) เครื่องมือในห้องปฏิบัติการทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือที่ใช้สำหรับการเก็บข้อมูล หรือเครื่องมืออุปกรณ์ที่ใช้สำหรับเก็บสารเคมีตั้งต้น ควรจะมีการควบคุมให้เป็นไปตามข้อกำหนดเบื้องต้นของอุปกรณ์นั้นๆ (อาทิ การกำหนดอุณหภูมิของตู้เย็นที่ใช้เก็บเนื้อเยื่อ) โดยควรมีการตรวจสอบอยู่อย่างสม่ำเสมอ เพื่อที่จะป้องกันไม่ให้เกิดความผิดพลาดในการดำเนินงานในห้องปฏิบัติการ
1.3) การบำรุงรักษา (Maintenance) การบำรุงรักษาอุปกรณ์อย่างสม่ำเสมอสามารถทำได้ 2 วิธี
1.3.1) การบำรุงรักษาเชิงป้องกัน (Preventive maintenance) เป็นการเปลี่ยนชิ้นส่วนของอุปกรณ์ตามระยะเวลาของชิ้นส่วนนั้นๆ เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับอุปกรณ์ชิ้นใหญ่หากชิ้นส่วนของอุปกรณ์บางชิ้นเสียหาย
1.3.2) การซ่อมบำรุง เป็นการบำรุงรักษาในกรณีที่เกิดการเสียหายของเครื่องมือ ในกรณีที่ไม่สามารถบำรุงรักษาเชิงป้องกันได้ โดยทางห้องปฏิบัติการควรมีแผนรองรับในกรณีฉุกเฉิน อาทิมีการเตรียมอุปกรณ์ชุดที่สอง หรือมีแผนในการติดต่อวิศวกรหรือช่างซ่อมแซม
ควรมีการสำรองชิ้นส่วนของอุปกรณ์ที่สำคัญ หรือชิ้นส่วนที่หาได้ยากไว้เผื่อในกรณีฉุกเฉิน โดยเฉพาะในกรณีของการทดลองบางประเภทที่ไม่สามารถยอมรับให้เกิดการผิดพลาดได้ โดยเฉพาะการควบคุมอุณหภูมิของสัตว์ทดลอง อาจมีการติดตั้งระบบสัญญาณเตือน ในกรณีที่อุปกรณ์หยุดทำงาน
2) การเก็บเอกสาร (Documentation) ควรมีการติดป้ายแสดงการบำรุงรักษาอุปกรณ์ การตรวจสอบความเที่ยงของอุปกรณ์ เพื่อที่บุคลากรภายในห้องปฏิบัติการจะได้ทราบถึงประวัติการซ่อมบำรุงรักษาอุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆ และแจ้งขอการบำรุงรักษาได้ตามระยะเวลาที่กำหนด
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมจากเรื่อง Equipment ใน GLP handbook หน้า 21–23
|