การจัดการความเสี่ยง (Risk treatment) เป็นกระบวนการเพื่อป้องกันภัยและลดความเสียหายที่อาจเกิดจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่มีในห้องปฏิบัติการด้วยการควบคุมและเตรียมพร้อมที่จะรับมือ โดยทั่วไปหลักการในการจัดการความเสี่ยงต้องมีการควบคุมตามหัวข้อต่อไปนี้
1. การป้องกันความเสี่ยง (Risk prevention) สามารถทำได้ในหลายรูปแบบที่มีเป้าหมายในเชิงป้องกัน โดยการป้องกันความเสี่ยงหลัก ๆ ที่ควรทำก่อน มีดังนี้
▪ มีพื้นที่เฉพาะสำหรับกิจกรรมที่มีความเสี่ยงสูง เช่น เมื่อมีการใช้สารอันตราย ต้องมีการแยกคนทำงานหรือของที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทำงานออกห่างจากสารอันตราย โดยจำกัดขอบเขตของพื้นที่ หรือใช้ฉาก/ที่กั้น
▪ มีการขจัดสิ่งปนเปื้อน (decontamination) บริเวณพื้นที่ที่ปฏิบัติงานภายหลังเสร็จปฏิบัติการ เพื่อป้องกันการเกิดปฏิกิริยาของสารเคมีที่ยังเหลือตกค้างอยู่ในพื้นที่ปฏิบัติงานที่อาจเป็นอันตรายต่อผู้อื่น
2. การลดความเสี่ยง (Risk reduction) สามารถทำได้ในหลายรูปแบบที่มีเป้าหมายเพื่อลดความเสี่ยงที่เกิดขึ้น โดยการลดความเสี่ยงหลัก ๆ ที่ควรทำก่อน มีดังนี้
▪ เปลี่ยนแปลงวิธีการปฏิบัติงานเพื่อลดการสัมผัสสาร เช่น การทาสีด้วยแปรงแทนการใช้สีสเปรย์ เป็นต้น
▪ ประสานงานกับหน่วยงานกลางขององค์กรที่รับผิดชอบในเรื่องการจัดการความเสี่ยง เพื่อให้เกิดการจัดการความเสี่ยงและรับรู้ร่วมกัน ทำให้เห็นภาพรวมของการจัดการเพื่อลดความเสี่ยงของห้องปฏิบัติการ คณะ และมหาวิทยาลัย/องค์กร ได้ ตัวอย่างการประสานงาน เช่น เมื่อเกิดอุบัติเหตุภายในห้องปฏิบัติการ ผู้ปฏิบัติงานในห้องปฏิบัติการมีช่องทางในการติดต่อกับผู้รับผิดชอบจากหน่วยงานกลางขององค์กรที่รับผิดชอบด้านความปลอดภัยได้ทันที ทำให้สามารถเรียกรถพยาบาลมารับผู้บาดเจ็บได้รวดเร็ว เป็นการลดความเสี่ยงจากการเสียชีวิต เป็นต้น
▪ บังคับใช้ข้อกำหนด และ/หรือแนวปฏิบัติด้านความปลอดภัยในห้องปฏิบัติการ เพื่อให้เกิดความตระหนักในการปฏิบัติงาน ส่งผลให้ลดความเสี่ยงของห้องปฏิบัติการได้อย่างเป็นระบบ เช่น การนำข้อกำหนดอาชีวอนามัย หรือเครื่องมือและความรู้จาก ESPReL มาใช้ในการกำหนดแนวปฏิบัติฯ ในห้องปฏิบัติการ เป็นต้น
▪ ประเมิน/ตรวจสอบการบริหารจัดการความเสี่ยงอย่างสม่ำเสมอ เช่น มีการกำหนดตารางเวลาที่ชัดเจนสำหรับการตรวจประเมินภายในห้องปฏิบัติการ ระหว่างห้องปฏิบัติการ หรือการตรวจประเมินจากหน่วยงานภายนอก เป็นต้น
3. การสื่อสารความเสี่ยง (Risk communication การสื่อสารความเสี่ยงเป็นส่วนที่เชื่อมโยงกับกระบวนการวิเคราะห์ความเสี่ยง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความตระหนัก (awareness) ให้กับคนทำงานและผู้ปฏิบัติงาน โดยใช้กลวิธีในการเผยแพร่และกระจายข้อมูลที่ถูกต้องและเหมาะสมกับเหตุการณ์ ซึ่งช่วยให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมีความเข้าใจลักษณะของภัยอันตรายและผลกระทบเชิงลบได้ การสื่อสารจึงมีความสำคัญที่สามารถทำให้การประเมินความเสี่ยงและการบริหารความเสี่ยงดำเนินไปได้ด้วยดี
กลวิธีในการสื่อสารความเสี่ยง ต้องครอบคลุมบุคคลที่เกี่ยวข้องทุกกลุ่ม โดยอาจใช้หลายวิธีประกอบกัน ได้แก่
▪ การบรรยาย การแนะนำ การพูดคุย เช่น การพูดคุยกัน หรือการแจ้งเรื่องความเสี่ยงหรือความปลอดภัยในหน่วยงานทุกครั้งก่อนการประชุม เป็นต้น
▪ ป้าย, สัญลักษณ์ เช่น สัญลักษณ์/ป้าย แสดงความเป็นอันตรายในพื้นที่เสี่ยงนั้น เป็นต้น
▪ เอกสารแนะนำ, คู่มือ เช่น การทำเอกสารแนะนำหรือคู่มือ ข้อปฏิบัติในการปฏิบัติงานที่มีความเสี่ยง เป็นต้น
4. การตรวจสุขภาพของผู้ปฏิบัติงานในห้องปฏิบัติการที่มีสารเคมีอันตรายอยู่ด้วยเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการป้องกันและลดผลกระทบต่อสุขภาพ ในการบริหารจัดการห้องปฏิบัติการจึงควรจัดสรรงบประมาณสำหรับการตรวจและการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับสุขภาพรองรับไว้ด้วย ผู้ปฏิบัติงานควรได้รับการตรวจสุขภาพเมื่อ
▪ ถึงกำหนดการตรวจสุขภาพทั่วไปประจำปี เพื่อทราบผลสุขภาพทั่วไปของร่างกาย
▪ ถึงกำหนดการตรวจสุขภาพตามปัจจัยเสี่ยงของผู้ปฏิบัติงาน เช่น ผู้ปฏิบัติงานทำงานกับสารปรอท มีปัจจัยเสี่ยงในด้านสุขภาพสูง ต้องได้รับการตรวจสุขภาพทางประสาท หัวใจ ระบบเลือด และอวัยวะที่สะสมสารพิษ เป็นต้น โดยกำหนดช่วงเวลาเพิ่มเติมจากการตรวจสุขภาพประจำปี
▪ มีอาการเตือน – เมื่อพบว่า ผู้ปฏิบัติงานมีอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นจากการทำงานกับสารเคมี วัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือในห้องปฏิบัติการ เช่น เมื่อทำงานกับสารปรอทแล้วเกิดอาการระคายเคืองในระบบทางเดินหายใจรุนแรง มีการเจ็บหน้าอก หายใจติดขัดหรือปวดศรีษะ หรืออาจเกิดผื่นแดงปวดแสบปวดร้อนเมื่อผิวหนังสัมผัสปรอท ต้องได้รับการตรวจสุขภาพโดยเร็ว เป็นต้น
เผชิญกับเหตุการณ์สารเคมีหก รั่วไหล ระเบิด หรือเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้ต้องสัมผัสสารอันตราย เช่น การตรวจสุขภาพร่างกายผู้ปฏิบัติงานที่เข้าไปจัดการกับสารปรอทรั่วไหลบนพื้น หรือเกิดไฟไหม้ห้องเก็บสารเคมีที่ก่อให้เกิดแก๊สพิษคลอรีนปริมาณมาก เป็นต้น
ตามข้อกำหนดของ OSHA สำหรับปรอทที่เป็นสารประกอบอนินทรีย์และสารประกอบเอริล มีค่าขีดจำกัดเฉลี่ยตลอดเวลาการทำงาน 8 ชั่วโมงต่อวัน (8-Hour TWA) เท่ากับ 0.1 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในขณะที่ปรอทที่เป็นสารประกอบอัลคิล มีค่า 8-Hour TWA เท่ากับ 0.01 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เป็นต้น (ที่มา: เข้าถึงได้จาก https://www.osha.gov/SLTC/mercury/standards.html สืบค้นเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2558)
|