การระบุอันตราย (Hazard identification)
การระบุอันตราย หมายถึง การระบุความเป็นอันตรายของวัตถุหรือสถานการณ์ที่เมื่อเกิดขึ้นแล้วอาจเป็นอันตรายได้ นอกจากนี้ ในปัจจุบันยังได้ปรับเอากลวิธีด้าน “การระบุความเสี่ยง” มาใช้เป็นอีกแนวทางสำหรับการบริหารความเสี่ยงได้เช่นเดียวกัน โดยการระบุความเสี่ยงคือ การระบุอันตรายที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาหนึ่ง ๆ
ยกตัวอย่างเช่น ตัวทำละลายคลอโรฟอร์ม สามารถระบุอันตรายได้ดังนี้ มีความเป็นอันตรายอยู่ในประเภทที่ 6 สารพิษ (UN Class/UN No. 1888) เมื่อสัมผัสโดยการหายใจ ไอคลอโรฟอร์มจะทำให้เกิดความระคายเคืองต่อระบบหายใจและระบบประสาทส่วนกลาง เมื่อสัมผัสทางผิวหนังจะทำให้เกิดความระคายเคืองผิวหนังและอาจมีอาการเจ็บปวด เมื่อสัมผัสโดยการรับประทานจะทำให้เกิดแผลไหม้บริเวณปาก ลำคอ มีอาการเจ็บหน้าอกและอาเจียน เมื่อสัมผัสทางตาจะทำให้ตาระคายเคืองและปวด หากรุนแรงอาจทำให้ตาบอดได้ เป็นต้น
เมื่อต้องการ ระบุความเสี่ยง ต้องอาศัยข้อมูลช่วงเวลาเข้ามาพิจารณาร่วมกับความเป็นอันตรายด้วย ยกตัวอย่างเช่น ไอระเหยของคลอโรฟอร์มข้างต้น ค่า PEL-TWA (permissible exposure limit – time weighted average) เท่ากับ 2 พีพีเอ็ม กล่าวคือ การสูดดมไอคลอโรฟอร์ม ที่มีความเข้มข้นประมาณ 2 พีพีเอ็ม มากกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน สามารถก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้ตามที่กล่าวมาข้างต้น จนถึงเสียชีวิตได้ คลอโรฟอร์มอาจเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ด้วย (ดู ข้อมูลประกอบได้จาก เอกสารข้อมูลความปลอดภัย (SDS) ของคลอโรฟอร์ม CAS No. 67-66-3) ดังนั้น ในการระบุอันตราย หรือการระบุความเสี่ยง จึงเริ่มจากการสำรวจความเป็นอันตรายที่เป็นรูปธรรม จากปัจจัยต่อไปนี้
1. สารเคมี/วัสดุที่ใช้ เช่น ข้อมูลความเป็นอันตรายของสารเคมี/วัสดุที่ใช้งาน ตรวจสอบได้จาก
1.1 ฉลาก/สัญลักษณ์ความเป็นอันตรายข้างขวด และเอกสารข้อมูลความปลอดภัย (SDS) ของสารเคมีนั้น ๆ เช่น ethidium bromide (EtBr) จัดเป็นสารก่อกลายพันธุ์ เนื่องจากสามารถทำให้โครงสร้าง DNA หรือสารพันธุกรรมเปลี่ยนได้ เป็นต้น
1.2 ขั้นตอนการทำงานกับสารเคมีชนิดนั้น หรือ ผลิตผลที่เกิดจากปฏิกิริยาของสารเคมีชนิดนั้น ๆ เช่น การใช้ EtBr ต้องเจือจางเป็น working solution ได้สารละลายสีแดง ไม่มีกลิ่น ซึ่งแม้จะเจือจางแล้ว หากผู้ทำงานสัมผัสโดยตรงก็สามารถก่อให้เกิดการกลายพันธุ์ได้ เป็นต้น
2. เครื่องมือหรืออุปกรณ์ มีการสำรวจว่าสถานภาพของเครื่องมือหรืออุปกรณ์และขั้นตอนการใช้เครื่องมือ/อุปกรณ์นั้น สามารถก่อให้เกิดอันตรายอย่างไรได้บ้าง เช่น เครื่องมือเก่าจนเป็นสนิมและมีความคมอาจบาดผิวหนังทำให้เป็นแผลและติดเชื้อได้ หรือ การใช้เครื่อง sonicator เพื่อทำให้เซลล์แตกด้วยคลื่นเสียงคะแนนสูงอาจเป็นอันตรายต่อแก้วหูได้ เป็นต้น
3. ลักษณะทางกายภาพของห้องปฏิบัติการ มีการสำรวจอันตรายจากลักษณะทางกายภาพโดยรอบบริเวณที่ปฏิบัติงานว่ามีอะไรที่จะเป็นสาเหตุให้เกิดอันตรายได้ เช่น บริเวณที่ทำงานมีการวางของกีดขวางการทำงานที่อาจทำให้ผู้ปฏิบัติการเดินชนและหกล้ม หรือพื้นของห้องปฏิบัติการขัดเป็นมันทำให้ผู้ปฏิบัติการอาจลื่นหกล้มได้ เป็นต้น
|