ข้อกำหนดสำหรับการจัดเก็บสารไวไฟ ควรปฏิบัติดังนี้
1. เก็บสารไวไฟให้ห่างจากแหล่งความร้อน แหล่งกำเนิดไฟ เปลวไฟ ประกายไฟ และแสงแดด อย่างน้อย 25 ฟุต (7.6 เมตร) ทั้งนี้ควรพิจารณาจากปริมาณสารไวไฟ และขนาดของแหล่งความร้อน/แหล่งกำเนิดประกายไฟในห้องปฏิบัติการประกอบกันด้วย ตัวอย่างเช่น หากมีแหล่งที่ให้ความร้อนสูงอยู่ในห้องปฏิบัติการ ควรจัดเก็บสารไวไฟห่างจากแหล่งความร้อนมากกว่า 25 ฟุต (7.6 เมตร)
2. เก็บสารไวไฟในห้องปฏิบัติการในภาชนะที่มีความจุไม่เกิน 20 ลิตร (carboy)
3. เก็บสารไวไฟในห้องปฏิบัติการไม่เกิน 10 แกลลอน (38 ลิตร)ถ้ามีเกิน 10 แกลลอน (38 ลิตร) ต้องจัดเก็บไว้ในตู้สำหรับเก็บสารไวไฟโดยเฉพาะ ตามมาตรฐานกำหนด เช่น ANSI/UL 1275, NFPA 30, BS EN 14470-1:2004, AS 1940-2004 เป็นต้น

a b c d
รูปแสดงตัวอย่างตู้เก็บสารไวไฟ
(ที่มา เข้าถึงได้จาก a. https://www.safetyequipmentsolutions.com/safety-products/hazmat-containment/eagle-safety-storage-cabinets/flammable-liquid-storage-cabinets
b. https://www.wisconsin.edu/ehs/osh/lab-flam/
c. http://www.herbertwilliams.com/products/product/61/
d. http://www.utexas.edu/safety/ehs/lab/manual/3_fundamentals.html สืบค้นเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2558)
4. เก็บสารไวไฟสูงในตู้ที่เหมาะสม สารไวไฟที่ต้องเก็บในตู้เย็น ไม่ควรเก็บในตู้เย็นแบบธรรมดาที่ใช้ในบ้าน เนื่องจากภายในตู้เย็นที่ใช้ในบ้านไม่มีระบบป้องกันการติดไฟ และยังมีวัสดุหลายอย่างที่เป็นสาเหตุให้เกิดการติดไฟได้ เช่น หลอดไฟภายในตู้เย็น เป็นต้น ในห้องปฏิบัติการและคลัง/พื้นที่เก็บสารเคมี ควรมีตู้เย็นที่ปลอดภัย เช่น explosion–proof refrigerator สำหรับใช้เก็บสารไวไฟที่ต้องเก็บไว้ในที่เย็น เช่น 1,1-dichloroethylene, 2-Methylbutane, acetaldehyde, trichlorosilane เป็นต้น ซึ่งเป็นตู้เย็นที่ออกแบบให้มีระบบป้องกันการเกิดประกายไฟหรือปัจจัยอื่นๆ ที่อาจทำให้เกิดการติดไฟหรือระเบิดได้
เกณฑ์การจำแนกประเภทสารไวไฟตามระบบ NFPA หรือ ระบบ GHS แสดงในข้อ 2.4 ภาคผนวก 2 นอกจากนี้ ข้อมูลเกี่ยวกับการจัดเก็บมีระบุในเอกสารข้อมูลความปลอดภัย (Safety Data Sheet, SDS) หัวข้อ 7 การใช้และการจัดเก็บ (handling and storage)
|