ข้อกำหนดทั่วไปในการจัดเก็บสารเคมี คือ ข้อกำหนดเพื่อความปลอดภัยเบื้องต้นสำหรับการจัดเก็บสารเคมีทุกกลุ่ม
1. การแยกเก็บสารเคมีตามสมบัติการเข้ากันไม่ได้ของสารเคมี (Chemical incompatibility) หมายถึง การจัดเก็บสารเคมีในห้องปฏิบัติการ ควรมีการแยกตามกลุ่มสารเคมี โดยคำนึงถึงสมบัติของสารเคมีที่เข้ากันได้และไม่ได้ เช่น สารกัดกร่อนประเภทกรดและด่างไม่ควรจัดเก็บไว้ด้วยกัน หากจำเป็นต้องจัดเก็บไว้ในตู้เดียวกันต้องมีภาชนะรองรับ (secondary container) แยกจากกัน ไม่ควรเก็บกรดอินทรีย์ (organic acid) ร่วมกับกรดอนินทรีย์ที่มีฤทธิ์ออกซิไดซ์ (oxidizing inorganic acids) เช่น กรดไนตริก กรดซัลฟูริก เป็นต้น การจัดเก็บสารเคมีเรียงตามตัวอักษร ต้องพิจารณาถึงความเข้ากันไม่ได้ของสารเคมีก่อน ตัวอย่างเกณฑ์การแยกประเภทสารเคมีเพื่อการจัดเก็บ ดังนี้
เกณฑ์ที่ 1 : Chemical Segregation (Hazard class) จาก Laboratory Safety Manual, The University of Texas at Austin
เกณฑ์ที่ 2 : Chemical Segregation (Hazard class) ของ Lawrence Berkeley National Laboratory (Berkeley Lab), U.S. Department of Energy
เกณฑ์ที่ 3 : ChemAlert chemical incompatibility color coding system ของ Department of Microbiology, University of Manitoba
เกณฑ์ที่ 4 : Partial Incompatibility Listing จาก Chemical Segregation & Incompatibilities Guidelines, University of Texas at Arlington
เกณฑ์ที่ 5 : EPA's Chemical Compatibility Chart
2. เก็บสารเคมีของแข็งแยกออกจากของเหลวทั้งในคลังสารเคมีและห้องปฏิบัติการ อย่างเป็นสัดส่วน
3. หน้าตู้เก็บสารเคมีในพื้นที่ส่วนกลางมีการระบุ
-
รายชื่อสารเคมีและเจ้าของ
-
ชื่อผู้รับผิดชอบดูแลตู้
-
สัญลักษณ์ตามความเป็นอันตราย
4. จัดเก็บสารเคมีทุกชนิดอย่างปลอดภัยตามตำแหน่งที่แน่นอน และไม่วางสารเคมีบริเวณทางเดิน เช่น ชั้นวางสารเคมีมีความแข็งแรง มีที่กั้น ห่างจากแหล่งน้ำ มีภาชนะรองรับขวดสารเคมีเพื่อป้องกันสารเคมีรั่วไหลสู่สิ่งแวดล้อม เป็นต้น
5. มีป้ายบอกบริเวณที่เก็บสารเคมีที่เป็นอันตราย อย่างชัดเจน
6. มีระบบการควบคุมสารเคมีที่ต้องควบคุมเป็นพิเศษ สารเคมีที่ต้องควบคุมเป็นพิเศษ หมายถึง สารที่มีความเป็นอันตรายสูงต่อสุขภาพ เช่น สารที่มีฤทธิ์เป็นพิษเฉียบพลันสูง สารที่มีหลักฐานยืนยันแน่ชัดว่าเป็นสารก่อมะเร็ง สารก่อการกลายพันธุ์ สารที่เป็นพิษต่อระบบสืบพันธุ์ เป็นต้น ซึ่งจะระบุในเอกสารข้อมูลความปลอดภัย (Safety Data Sheet, SDS) ในหัวข้อ 2 ข้อมูลความเป็นอันตราย (hazards identification) และหัวข้อ 11 ข้อมูลด้านพิษวิทยา (toxicological information) สารเหล่านี้ต้องมีระบบการควบคุมเป็นพิเศษ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อผู้ใช้ เช่น เก็บอยู่ในตู้ที่มีกุญแจล็อค และผู้ปฏิบัติงานต้องได้รับอนุญาตจากหัวหน้าห้องปฏิบัติการหรือผู้ดูแลรับผิดชอบก่อนจึงจะสามารถนำมาใช้ได้ เป็นต้น
ตารางที่ 2.1 ตัวอย่างสารที่มีฤทธิ์เป็นพิษเฉียบพลันสูง สารที่มีหลักฐานยืนยันแน่ชัดว่าเป็นสารก่อมะเร็ง สารก่อการกลายพันธุ์ และสารที่เป็นพิษต่อระบบสืบพันธุ์
ประเภทความเป็นอันตราย
|
ตัวอย่างสารเคมี
|
สารที่มีฤทธิ์เป็นพิษเฉียบพลันสูง
|
cyanide, sodium fluoroacetate, ethyleneimine
aziridine, organic compounds of mercury, nicotine and salts of nicotine
|
สารก่อมะเร็ง
|
nickel oxide, arsenic trioxide, benzidine and salts of benzidine, asbestos, benzene
|
สารก่อการกลายพันธุ์
|
acrylamide, colchicines, carbendazim, benomyl, 2-nitrotoluene
|
สารที่เป็นพิษต่อระบบสืบพันธุ์
|
mercury, lead hexafluorosilicate, lead acetate, lead nickel silicate, warfarin
|
ที่มา C&L Inventory database, harmonized classification, Annex VI of Regualation (EC) No. 1272/2008 (CLP Regulation), http://echa.europa.eu/information-on-chemicals/cl-inventory-database สืบค้นเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2558
7. ไม่ใช้ตู้ดูดควันเป็นที่เก็บสารเคมีหรือของเสีย แต่หากมีการจัดเก็บอุปกรณ์ใดๆ ที่ไม่ใช่สารเคมีและของเสียใต้ตู้ดูดควันต้องจัดวางให้เป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้งานได้
8. ไม่วางขวดสารเคมีบนโต๊ะและชั้นวางของโต๊ะปฏิบัติการอย่างถาวร ยกเว้นขวดสารเคมีที่อยู่ระหว่างการใช้งานในแต่ละวัน
|